วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2559

ทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคล อัลเฟรด แอดเลอร์


5.แนวความคิดตามทฤษฎีจิตวิทยารายบุคคล อัลเฟรด แอดเลอร์



ทฤษฎีจิตวิทยาเอกัตบุคคลของอัลเฟรด  แอดเลอร์  ( Alfred  Adler’s  Theory  of  Individual  Psychology)
ประวัติของอัลเฟรด  แอดเลอร์  (ค.ศ.  1870-1937)  แอดเลอร์  เกิดเมื่อวันที่  7  กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1870  ในกรุงเวียนนา  ประเทศออสเตรีย  ถึงแก่กรรมเมื่อปี  ค.ศ. 1937  ที่เมืองอเบอร์ดีน  ในสกอตแลนด์  ขณะที่กำลังเดินทางไปปาฐกถาที่นั่น  เขาได้รับปริญญาทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา  ในปี  ค.ศ.  1895 ด้านจักษุแพทย์  หลังจากที่มีการฝึกปฏิบัติทางการแพทย์  ได้หันมาสนใจทางจิตเวชและเป็นจิตแพทย์ในที่สุด

โครงสร้างทฤษฎีบุคลิกภาพ  แอดเลอร์  ได้ย้ำอิทธิพลของสังคมและสัมพันธภาพระหว่างบุคคลว่ามีความสำคัญในการสร้างบุคลิกภาพ  ดังนี้

1. ปมด้อย – ปมเด่น  แอดเลอร์  เห็นว่าอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมสำคัญว่าพันธุกรรมสถานการณ์ทางสังคมจะช่วยหล่อหลอมบุคลิกภาพของคนเราให้เด่นชัดมากขึ้น  เจตคติที่เรามีต่อตนเองตั้งแต่เด็กเป็นแบบแห่งบุคลิกภาพเมื่อเป็นผู้ใหญ่  เช่น  เด็กที่มีเจตคติว่าตนเองด้อยต้องพึ่งผู้ใหญ่  เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็มักจะหาข้อแก้ตัวเมื่อตนเองไม่ประสบผลสำเร็จ  เช่น  ตนสุขภาพไม่ดีปวดศีรษะ  เป็นโรคกระเพาะอาหาร  อีกประการหนึ่งจะใช้วิธีการต่อสู้เพื่อให้ตนเด่นขึ้นมาโดยแสดงตนเป็นคนก้าวร้าว  มีอำนาจหรือยิ่งใหญ่เหนือคนอื่น

2. เจตคติของพ่อแม่  นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างบุคลิกภาพ  เด็กที่ถูกตามใจจนเสียนิสัย  คนอื่นต้องคอยเอาใจ  เพราะเขามีความคิดว่าตนยิ่งใหญ่วิเศษกว่าใครๆ  มีแต่จะเรียกร้องเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวไม่มีการให้  ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ยาก  หรือในกรณีที่พ่อแม่ทะนุถนอมลูกมากจนเกินไป  ทำให้ลูกหมดโอกาสที่จะต่อสู้ไปยังจุดหมายปลายทาง  ส่วนเด็กที่ถูกเกลียดชังถูกทอดทิ้งปราศจากความรักใคร่เอาใจใส่จากใคร  จนทำให้เขารู้สึกว่าโลกเป็นศัตรูและจะเป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้น  ไม่มีไมตรีต่อผู้ใดและไม่ไว้วางใจใคร
ลักษณะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ดีนั้น  จะเลี้ยงดูด้วยความรัก  ความเอาใจใส่  พร้อมทั้งสนับสนุนให้ลูกเป็นตัวของตัวเอง  ไม่ช่วยเหลือมากเกินไป  แต่ก็ไม่ใช่ทอดทิ้ง  มีความเข้าใจเด็กไม่หักหาญ  ซึ่งเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูลักษณะนี้  จะมีความองอาจกล้าหาญ  ที่จะเผชิญความจริงสนใจสังคม  ไม่เห็นแก่ตัว  และใช้สามัญสำนึกในการดำเนินชีวิต

3. สัมพันธภาพภายในครอบครัว  นอกจากเจตคติของพ่อแม่แล้ว  สัมพันธภาพในครอบครัวระหว่างพ่อแม่  พี่น้อง  ก็มีความสำคัญต่อตัวเด็กด้วย  แอดเลอร์ได้รายงานการค้นคว้าว่า  ประสบการณ์ของเด็กแต่ละคนในฐานะลูกคนโต  คนรอง  คนเล็ก  จะสร้างบุคลิกภาพให้แก่เด็ก  3 ฐานะแตกต่างกัน  ดังนี้
3.1 ลูกคนโต จะเป็นคนแรกที่พ่อแม่ให้ความสนใจสูงสุด  ได้รับความรักจากพ่อแม่อย่างเต็มที่  เมื่อลูกคนรองเกิดมาลูกคนโตจะรู้สึกว่าความรักความสนใจที่พ่อแม่ให้เขาถูกปันไปยังลูกคนรอง  ทำให้เขารู้สึกว่าฐานะเขาไม่มั่นคงเหมือนแต่ก่อน  จึงเป็นเหตุให้เขาเกลียดชังคนอื่นและเกิดความรู้สึกต้องการช่วงชิง  แต่พ่อแม่เตรียมตัวให้ลูกคนโตยอมรับน้อง  โดยพยายามพูดให้เขารู้ว่าเขามีน้องตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์  และพยายามสร้างความรู้สึกของเขาให้รักน้อง  โดยการให้เขาได้ลูบคลำท้องทุกๆวัน  เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาก็เป็นเจ้าของน้อง  และเมื่อคลอดแล้วพ่อแม่ก็ต้องพูดให้เขาเข้าใจว่าที่พ่อแม่ให้ความสนใจเพราะน้องยังช่วยตัวเองไม่ได้  ด้วยวิธีการดังกล่าวก็จะเป็นการช่วยให้ลูกคนโตไม่รู้สึกว่าเขาขาดความรักไป  เมื่อเขาโตขึ้นก็จะพัฒนาบุคลิกภาพของตนให้เป็นคนมีความรับผิดชอบ  มีเหตุผล  เป็นผู้นำ  ไว้อำนาจ
3.2 ลูกคนรอง  เมื่อเปรียบเทียบระหว่างลูกคนรองกับคนโตและลูกคนเล็ก  ในเรื่องการปรับตัวพบว่า  ลูกคนรองจะมีการปรับตัวได้ดีกว่าลูกคนโตและลูกคนเล็ก  เพราะพ่อแม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูคนแรกมาแล้ว  จึงไม่เคร่งเครียดเอาจริงเอาจังเหมือนเลี้ยงลูกคนโตดังนั้น  ลูกคนรองจึงมักจะเป็นคนมีนิสัยรักสนุก  ไม่ค่อยสนใจที่จะทำตนเป็นผู้นำหรือมีความรับผิดชอบมากนัก  บุคลิกภาพที่ปรากฏชัดในลูกคนกลาง  คือ  ลักษณะที่ชอบแข่งขัน  และเมื่อเห็นพี่ทำอะไรก็อยากจะทำบ้าง

3.3 ลูกคนเดียว  พ่อแม่รักลูกมากก็จะตามใจ  เลี้ยงดูอย่างเคร่งครัด  ดังนั้น  คนที่เป็นลูกคนเดียวผลการวิจัยเกี่ยวกับสัมพันธภาพทางครอบครัวปรากฏว่า  ลูกคนเดียวมักเฉลียวฉลาดอานเป็นเพราะได้อยู่ท่ามกลางผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก  ทำให้ได้แนวคิดและเจตคติแบบผู้ใหญ่  นอกจากลำดับการเกิดแล้ว  แอดเลอร์  ยังเน้นว่า  เจตคติของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นเครื่องส่งเสริมให้ลูกรู้สึกว่าตนอยู่ในฐานะอะไร  ถ้าพ่อแม่ให้ความรักความเอาใจใส่  และทำให้เขารู้สึกว่าลูกเป็นที่ต้องการของพ่อแม่  พ่อแม่มีความยุติธรรม  ย่อมทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น  ลำดับการเกิดของลูกก็จะไม่ทำให้เกิดความแตกต่างของบุคลิกภาพมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น