วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2559

ซิกมันด์ ฟรอยด์


1.แนวความคิดตามทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ 


ซิกมันด์ ฟรอยด์ ( Sigmund Freud )เป็นจิตแพทย์ชาวออสเตรียเชื้อสายยิว เกิดที่เมืองฟรายเบิร์ก  (Freiberg )อยู่ในแคว้นโมราเวีย (Moravia) ปัจจุบันเป็นประเทศเชคโกสะโลวาเกีย
แนวคิดที่สำคัญ ฟรอยด์ เชื่อว่าพฤติกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ มีแรงจูงใจมาจากจิตไร้สำนึก ซึ่งมักจะผลักดันออกมาในรูปความฝัน การพูดพลั้งปาก หรืออาการผิดปกติทางด้านจิตใจในด้านต่างๆ เช่น โรคจิต โรคประสาท เป็นต้น เขาเป็นบุคคลแรกที่ได้อธิบายทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่เกี่ยวกับบุคลิกภาพซึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมกับแรงขับทางสัญชาตญาณ(Instinctual drive)และแรงขับดังกล่าวเป็นพลังงานที่สามารถเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนที่ได้ อันเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากความรู้ทางฟิสิกส์ จึงทำให้เชื่อว่าจิตเป็นพลังงานรูปหนึ่ง ที่สามารถเปลี่ยนแปลงและไม่หยุดนิ่ง

โครงสร้างของบุคลิกภาพ (Structure of Personality)
ฟรอยด์ เชื่อว่าโครงสร้างของบุคลิกภาพจะประกอบด้วย อิด (Id) อีโก้ (Ego) และซูเปอร์อีโก้ (Superego)  โครงสร้างบุคลิกภาพ มีรายละเอียดดังนี้
       1. อิด (Id)   จะเป็นต้นกำเนิดของบุคลิกภาพ และเป็นส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด Id ประกอบด้วยแรงขับทางสัญชาตญาณ (Instinct) ที่กระตุ้นให้มนุษย์ตอบสนองความต้องการ ความสุข ความพอใจ ในขณะเดียวกันก็จะทำหน้าที่ลดความเครียดที่เกิดขึ้น การทำงานของ Id จึงเป็นไปตามหลักความพอใจ (Pleasure Principle) ที่ไม่คำนึงถึงความเหมาะสมตามความเป็นจริง  จะเป็นไปในลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นปฐมภูมิ (Primary Process of Thinking) เช่น เด็กหิวก็จะร้องไห้ทันที เพื่อตอบสนองความต้องการของเขา และส่วนใหญ่ที่อยู่ในระดับจิตไร้สำนึก

      2. อีโก้ (Ego) จะเป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่ประสาน อิด และ ซูเปอร์อีโก้    ให้แสดงบุคลิกภาพออกมาเพื่อให้เหมาะสมกับความเป็นจริง และขอบเขตที่สังคมกำหนดเป็นส่วนที่ทารกเริ่มรู้จักตนเองว่า ฉันเป็นใคร Egoขึ้นอยู่กับหลักแห่งความเป็นจริง(Reality Principle)ที่มีลักษณะของการใช้ความคิดในขั้นทุติยภูมิ (Secondary Process of Thinking) ซึ่งมีการใช้เหตุผล มีการใช้สติปัญญา และการรับรู้ที่เหมาะสม และอีโก้ (Ego) เป็นส่วนที่อยู่ในระดับจิตสำนึกเป็นส่วนใหญ่


 3.ซูเปอร์อีโก้ (Superego) นั้นเป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจรรยา บรรทัดฐานของสังคม ค่านิยม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่ผลักดันให้บุคคลประเมินพฤติกรรมต่างๆ ทีเกี่ยวข้องกับมโนธรรม จริยธรรมที่พัฒนามาจากการอบรมเลี้ยงดู โดยเด็กจะรับเอาค่านิยม บรรทัดฐานทางศีลธรรมจรรยา และอุดมคติที่พ่อแม่สอนเข้ามาไว้ในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะที่เด็กมีอายุประมาณ 3 – 5 ขวบ (ระยะ Oedipus Complex) เด็กจะพัฒนาความรู้สึกเหล่านี้ไปตามวัย โดยมีสภาพแวดล้อมทางบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญการทำงานของ Superego จะขึ้นอยู่กับหลักแห่งจริยธรรม (Moral Principle) ที่ห้ามควบคุม และจัดการไม่ให้ Id ได้รับการตอบสนองโดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี โดยมี Ego เป็นตัวกลางที่ประสานการทำงานของแรงผลักดันจาก Id และ Superego

       
พัฒนาการทางบุคลิกภาพ
ฟรอยด์  ได้แบ่งพัฒนาการทางบุคลิกภาพของมนุษย์ออกตามวัย พัฒนาการในวัยแรกๆของชีวิตจะมีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพในผู้ใหญ่  ฟรอยด์ เชื่อว่า พัฒนาการทางบุคลิกภาพของเด็กแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพของร่างกาย โดยร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณแห่งความพึงพอใจเป็นระยะๆ ในช่วงอายุต่างๆกัน บริเวณแห่งความพึงพอใจต้องได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ เด็กจึงจะมีพัฒนาการที่ดีและสมบูรณ์ แต่ถ้าบริเวณแห่งความพึงพอใจไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ก็จะเกิดการชะงักชะงัน ซึ่งจะติดตัวเด็กไปและมีการแสดงออกเมื่อเด็กเติบโตขึ้น ฟรอยด์ ได้แบ่งพัฒนาการเป็น 5 ระยะ ได้แก่
1. ขั้นปาก (Oral Stage) เริ่มตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 ขวบ ในวัยนี้ Erogenous Zone จะอยู่บริเวณปาก กิจกรรมส่วนใหญ่คือการใช้ปากดูด อมและกัด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้คือ การให้อาหารและนม การตอบสนองที่มากหรือน้อยเกินไปก็ทำให้เกิดการชะงักชะงันในปากได้ เมื่อเติบโตขึ้นก็จะมีพฤติกรรมเพื่อตอบสนองให้บริเวณปากได้รับความพึงพอใจ เช่น การกิน การสูบบุหรี่ การกัดเล็บ เป็นต้น เด็กที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ เมื่อโตขึ้นจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี มีความไว้วางใจผู้อื่น  ในทางตรงกันข้าม ถ้าแม่ไม่ให้ความรักความอบอุ่นอย่างเพียงพอ เมื่อเติบโตขึ้นเด็กจะเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย ชอบพูดจาเย้ยหยันผู้อื่น นินทาว่าร้ายผู้อื่น เจ้ากี้เจ้าการ
2. ขั้นทวารหนัก (Anal Stage) เด็กจะมีอายุตั้งแต่ 1-3 ขวบ ในวัยนี้ ความสุขและความพึงพอใจจะอยู่ที่บริเวณทวารหนัก  กิจกรรมส่วนใหญ่ก็คือการกลั้นอุจจาระ และการถ่ายอุจจาระ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็คือ การฝึกหัดหรือการบังคับให้เด็กถ่ายเป็นเวลา ถ้าเด็กพอใจในการกลั้นอุจจาระ เมื่อเติบโตขึ้นเด็กก็จะเป็นคนที่ตระหนี่ถี่เหนียว ถ้าพอใจกับการถ่ายอุจจาระ เมื่อเติบโตขึ้นเด็กก็จะเป็นคนที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ในระยะนี้ถ้าเด็กโกรธพ่อแม่ที่เข้มงวดมากเกินไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตรงต่อเวลา  ความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เมื่อเติบโตขึ้นเด็กก็จะเป็นคนดื้อรั้น รักษาความสะอาดเป็นอย่างมาก ตรงต่อเวลา เจ้าระเบียบ แต่ถ้าปล่อยปละละเลยในเรื่องดังกล่าว เมื่อเติบโตขึ้นเด็กจะเป็นคนที่ทำอะไรไม่เป็นระเบียบ ขาดความรับผิดชอบ สะเพร่า ไม่ตรงต่อเวลา
3. ขั้นเพศ (Phallic Stage) เริ่มตั้งแต่ 3 – 5 ขวบ ในขั้นนี้ ความสุขและความพึงพอใจจะอยู่ที่อวัยวะเพศ โดยที่เด็กเกิดความรู้สึกพึงพอใจกับการจับต้องอวัยวะเพศ เพราะมีความพึงพอใจทางเพศ ในระยะมีปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้แก่ ปมโอดิปุส (Odipus Complex) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ ที่เด็กผู้ชายมีความรู้สึกทางเพศ มีความรักและความผูกพักต่อผู้ที่เป็นแม่ และมีความรู้ว่าเกลียดพ่อที่มาแย่งความรักจากแม่ไป ความรู้สึกนี้จะทำให้เขาวิตกกังวลว่าจะถูกตัดอวัยวะเพศ เด็กผู้ชายจะแก้ไขปมนี้ด้วยการเลียนแบบพฤติกรรมจากพ่อ ซึ่งเด็กจะได้รับในลักษณะต่างๆ จากพ่อไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ท่าทางต่างๆและมีการพัฒนาในส่วนของซุปเปอร์อีโก้ด้วย ส่วนในเด็กผู้หญิงจะมีความรู้สึกต่อพ่อคล้ายๆกับเด็กผู้ชายที่มีความรู้สึกต่อแม่ ปรากฏการณ์นี้ที่เกิดขึ้นในผู้หญิงเรียกว่า ปมอิเลคตร้า (Electra Complex) นอกจากนี้เมื่อเด็กผู้หญิงพบว่าไม่มีอวัยวะเพศเหมือนกับเด็กผู้ชายก็จะเกิดความรู้สึกอิจฉาอวัยวะเพศชาย  รู้สึกอิจฉาและเป็นคู่ปรับของแม่ แต่เด็กผู้หญิงสามารถเก็บกดความรู้สึกนี้ไว้แล้วเลียนแบบลักษณะต่างๆจากแม่ มีการพัฒนาบุคลิกภาพในส่วนของซุปเปอร์อีโก้เช่นเดียวกัน การประสบความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งย่อมทำให้เด็กมีพฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสมกับเพศของตนซึ่งนำไปสู่ปัญหาทางเพศได้ เช่น ปัญหารักร่วมเพศ การหมดสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น
4. ขั้นแฝง (Latency Stage) เริ่มตั้งแต่ อายุ 6 – 11 ปี ในขั้นนี้ ความสุขและความพึงพอใจจะไม่ปรากฏอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นระยะพักในเรื่องเพศ และจินตนาการทางเพศ เด็กจะเริ่มมีชีวิตสังคมภายนอกบ้านมากขึ้นที่จะเรียนรู้และปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ ในโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวัยดังกล่าว หากเด็กมีพัฒนาการในวัยต้นๆ อย่างเหมาะสม ในขั้นนี้ เด็กจะมีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนกลุ่มเดียวกัน
5. ขั้นพัฒนาการทางเพศ (Genital Stage) เริ่มจาก 13 ปีเป็นต้นไป ในระยะนี้เด็กจะเข้าสู่วัยรุ่น ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่และวัยชรา โดยมี ความสุขและความพึงพอใจจะมาอยู่ที่อวัยวะเพศ เมื่อเด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายทั้งหญิงและชายต่างๆกัน และมีพัฒนาการทางร่างกายของตนให้มีความสามารถในการสืบพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีความต้องการตามสัญชาตญาณทางเพศอย่างรุนแรง ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ต้องการเป็นอิสระ ในขณะเดียวกันก็ต้องการได้รับความอบอุ่นและการดูแลเอาใจใส่ทางจิตใจจากพ่อแม่ เมื่อบุคคลมีวุฒิภาวะทางเพศอย่างสมบูรณ์แล้ว จะเกิดความพึงพอใจทางด้านเพศ มีการแสวงความสุขทางเพศระหว่างชายหญิง บุคคลที่มีการพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างปกติ ไม่มีการติดตรึง ก็จะสามารถมีชีวิตทางสังคมที่ถูกต้องเหมาะสม คือมีครอบครัว และสามารถแสดงบทบาททางเพศ และบทบาทของพ่อแม่ได้อย่างเหมาะสม

            ฟรอยด์ เชื่อว่าพัฒนาการทางบุคลิกภาพจะไม่มีอีกต่อไป เมื่อมนุษย์เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ คืออายุประมาณ 20 ปี หรือถ้ามีพัฒนาการก็จะมีน้อยมาก ขั้นของพัฒนาการที่สำคัญที่สุดในทฤษฎีนี้ก็คือ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และขั้นที่ 3 เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น